หยุดทำร้ายคนวังน้ำเขียว หรือคนวังน้ำเขียวควรหยุดทำร้ายคนอื่น!!!

เทือกเขาใหญ่

วังน้ำเขียว เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นประตูสู่ภาคอิสาน จากทางฝั่งตะวันออก ซึ่งมีพรมแดนติดกับอำเภอนาดี ของจังหวัดปราจีนบุรี ผมรู้จักอำเภอวังน้ำเขียวดี เพราะสมัยสิบกว่าปีก่อน เดินทางผ่านอำเภอนี้เพื่อจะไปจังหวัดขอนแก่นกับคุณพ่อบ่อยมาก บ่อยจนแทบจะอาทิตย์ละครั้ง


ในสมัยสงครามเวียดนาม กองทัพสหรัฐอเมริกามาตั้งฐานทัพเรืออยู่ที่สัตหีบ เครื่องบินบรรทุกระเบิดขนาดใหญ่อย่างบี 52 ก็มาจอดอยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา อเมริกาเลยระเบิดภูเขาแถวบ้านผม (ปัจจุบันยังเหลือร่องรอยภูเขาหัวโล้นสองลูก คือเขาพลูตาหลวง และเขาไอ้แขกหรือเขาตะแบก หรือเขากิโลแปด) เพื่อมาทำถนนตัดใหม่ จากท่าเรือสัตหีบ และสนามบินอู่ตะเภา ตรงยาวไปบรรจบกับถนนสาย 304 ที่อำเภอแปลงยาวของจังหวัดฉะเชิงเทรา หรืออีกชื่อที่เรียกว่า ถนนยุทธศาสตร์ และจากตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคามตัดข้ามดงพญาไฟไปบรรจบกับถนนมิตรภาพ เพื่อต่อไปยังฐานทัพอากาศที่อุดรธานี สำหรับลำเลียงกำลังพลจากทางเรือที่จอดเทียบท่าอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบเพื่อไปรบกับเวียดนาม คือทางหลวงหมายเลข 304 ซึ่งจะผ่านอำเภอพนมสารคาม กบินทร์บุรี นาดี วังน้ำเขียว ปักธงชัย และบรรจบกับถนนมิตรภาพ ก่อนเข้าตัวเมืองโคราช บริเวณนั้นสมัยก่อนเรียกว่าสามแยกปัก (ปักธงชัย) ปัจจุบันตัวเมืองโคราชมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นขึ้นมาก รถติดในเขตเมืองแบบวิกฤต จึงได้มีการตัดถนนเส้นใหม่ เป็นบายพาสจากสามแยกปักไปบรรจบกับตำบลจอหอ เพื่อให้รถที่มาจากมิตรภาพมุ่งหน้าขึ้นอิสานเหนือ อย่างขอนแก่น อุดร หนองคาย หรือรถที่มาจากอำเภอปักธงชัยไม่ต้องวิ่งผ่านกลางเมืองโคราช สามารถใช้เส้นทางสายบายพาสไปทะลุออกที่จอหอ ใช้เส้นทางสายมิตรภาพเข้าสู่จังหวัดขอนแก่นต่อไป ปัจจุบัน ภาพของสามแยกปักธงชัย เลยค่อยๆเลือนหายไป คงเหลือแต่โรงงานปึงหงี่เชียง โรงงานผลิตกุนเชียง หมูยอเลื่องชื่อของเมืองย่าโม ที่เป็นสัญลักษณ์ว่าจุดนี้ เดิมคือสามแยกปักธงชัยแต่ก่อนเก่านั่นเอง


ถนนสาย 304 ที่ทางอเมริกาตัดใหม่ ได้แบ่งเทือกเขาใหญ่ ดงพญาไฟออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งกินพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดนครราชสีมา ปราจีนบุรี นครนายก สระบุรี ขึ้นกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอีกส่วนกินพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ปราจีนบุรีบางส่วน สระแก้ว และบุรีรัมย์นิดหน่อย ขึ้นกับอุทยานแห่งชาติทับลาน ปัจจุบันถนนสาย 304 ได้รับการพัฒนาขยายช่องทางเป็นสี่ช่องจราจรตลอดสาย ยกเว้นบางช่วงของถนนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทำให้ไม่สามารถตัดต้นไม้เพื่อขยายถนนได้ สมัยก่อนผมกับคุณพ่อเดินทางด้วยรถยนต์กระบะโตโยต้า ไมตี้เอ็กซ์ จากบ้านที่สัตหีบไปถึงบ้านของคุณแม่ที่อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่นใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ 8 ชั่วโมง เพราะถนนแคบ รถบรรทุกมาก และทางขึ้นเขาสูงชันมาก ปัจจุบันล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ผมเดินทางกลับจากบ้านคุณแม่ที่อำเภอหนองสองห้องเช่นกัน ใช้เวลาเพียงห้าชั่วโมง (ออกจากหนองสองห้อง 18.48 ถึงบ้านเที่ยงคืนนิดๆ) แสดงให้เห็นว่า การขยายถนนที่กว้างขึ้นทำให้การเดินทางสะดวกสบายขึ้น เมื่อการเดินทางสะดวกขึ้น ความเจริญก็เริ่มเข้าถึงพื้นที่ราบบนเทือกเขาใหญ่ ซึ่งบริเวณนั้น เมื่อก่อนนักเดินทางข้ามเขาลูกนี้ มักจะจอดพักรถกันที่ที่ราบกลางเขาใหญ่ ที่เรียกว่า กม.79 ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างอำเภอนาดีของจังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอวังน้ำเขียวของจังหวัดนครราชสีมา จากจุดนี้ หากมาจากทางอำเภอนาดี พอพ้นเขตอำเภอนาดีนิดหนึ่ง ก็จะพบกับสามแยกเล็กๆซ้ายมือ เป็นถนนรพช.ตัดข้ามจากถนนสาย 304 ผ่านที่ราบและเทือกเขาเล็กๆ ผ่านลำพระเพลิงไปทะลุทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ฝั่งอำเภอปากช่องและทะลุออกอำเภอปากช่องสู่ถนนมิตรภาพได้ ผมเคยขี่รถมอเตอร์ไซค์ Honda Wave 125 จากบ้านที่สัตหีบเมื่อเวลาสิบโมงเช้าตามถนนสาย 331 ขึ้นเขาปักธงชัยแล้วเลี้ยวซ้ายตรงวังน้ำเขียว ใช้เส้นทางเส้นนี้ไปทะลุอีกฝั่งของถนนมิตรภาพ ก่อนจะเลี้ยวซ้ายที่ถนนมิตรภาพมุ่งหน้าสู่สระบุรี ผ่านอยุธยา ปทุมธานี กรุงเทพฯ ทะลุออกบางกะปิ ลำสาลี และออกมาที่บางนา-ตราด ก่อนจะมาบรรจบที่บ้านที่สัตหีบอีกครั้ง ถึงบ้านเอาห้าทุ่มกว่า โดยในตัวมีแค่เงินค่าน้ำมันกับกล้องถ่ายรูป ซึ่งวังน้ำเขียวในวันนั้น ค่อนข้างน่าผิดหวังพอสมควร เพราะภาพที่เห็นคือ เนินเขาลูกเล็กๆบนที่ราบกลางเขาใหญ่มีแต่ป่าที่ถูกถาง เพื่อเตรียมที่จะทำไร่หรือไม่ก็ปลูกสร้างรีสอร์ตเต็มไปหมด ภาพเหล่านี้เห็นแล้วรู้สึกไม่ต่างจากบนเขาค้อ ของจังหวัดเพชรบูรณ์หรือบนเทือกเขาภูคาของจังหวัดน่านอย่างไรอย่างนั้น ผมมีโอกาสได้เดินทางไปภูคาเมื่อปลายปี 2553 และขับลัดเลาะตามเทือกเขาเรื่อยๆไปออกอำเภอบ่อเกลือ เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง ตลอดทางก็พบแต่สภาพป่าแบบเดียวกับวังน้ำเขียว ชาวบ้านถางป่า ปลูกข้าวโพดบนไหล่เขา กินพื้นที่ทำให้เขาหัวโล้นลูกแล้วลูกเล่า อันนี้ไม่ว่ากัน เพราะถ้าหากรัฐบาลไม่จัดหาอาชีพอื่นๆให้เขา จะให้ชาวบ้านม้งแถวนั้นทำอาชีพอะไร สภาพถนนตลอดทางค่อนข้างลำบาก ขรุขระตลอดช่วง บางช่วงก็มีดินถล่มลงมาปิดทาง เป็นธรรมดาของหน้าดินที่ไม่มีพืชคลุม เมื่อฝนตกหนัก ก็จะทำให้ดินถล่มพังลงมา เรามีโอกาสขับไปจนถึงต้นกำเนิดแม่น้ำน่าน ที่อยู่บนเทือกเขาภูคา ซึ่งเป็นพรมแดนกั้นไทย-ลาวด้วย ระหว่างทางนั้นผมพูดเปรยขึ้นมาว่า หากฝนตกหนักๆ เมืองน่านตกอยู่ภายใต้บาดาลแน่ๆ ด้วยลักษณะของเมืองโบราณที่มักจะตั้งอยู่ริมแม่น้ำ และจากที่เมืองน่าน ปัว เป็นเมืองที่อยู่ตีนเขา หากเกิดฝนตกหนักๆติดต่อกันหลายๆวัน เมื่อบนภูเขาไม่สามารถอุ้มน้ำเก็บไว้ได้ เพราะป่าไม้บนยอดเขาไม่มี ปริมาณน้ำมหาศาลและไหลด้วยความแรง (เพราะไม่มีพืชชะลอความแรงน้ำ) ก็จะไหลลงสู่ที่ราบด้านล่าง ซึ่งก็คืออำเภอปัว อำเภอท่าวังผา และอำเภอเมืองน่านจะต้องจมบาดาลแน่นอน หลังจากนั้นไม่นาน พอประเทศเราเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเมื่อต้นเดือนเมษายน (ปกติเมษายนของเรานี่เพิ่งจะเป็นกลางฤดูร้อน) น่าน ปัว ท่าวังผาก็โดนน้ำท่วมจริงๆ ไวกว่าที่ผมคิดไว้ และเสียดายที่ไม่มีโอกาสแจ้งเตือนไปหน่วยงานราชการหน่วยไหน แต่อย่างว่า ถึงผมแจ้งเตือนไป ใครจะฟังผม กับอีแค่ประชาชนที่ไม่ได้ศึกษาด้านชลประทานมาโดยตรง จะเอาอะไรมายึดว่าจะเกิดขึ้นจริงตามที่ผมแจ้ง ผมไม่ได้ศึกษาด้านชลประทาน เพียงแต่ผมศึกษาธรรมชาติ จากธรรมชาติที่ผมเคยอยู่อาศัยมาตั้งแต่เกิดเท่านั้นเอง


เช่นเดียวกับการผุดขึ้นอย่างรวดเร็วของโรงแรมและรีสอร์ตบนเทือกเขาใหญ่ อย่างวังน้ำเขียว หรือเขาค้อ เดิมที่ราบบนยอดเขาใหญ่อย่างวังน้ำเขียว มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ สมบูรณ์ขนาดมีกระทิงป่าอาศัยอยู่ ซึ่งมีเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในไทย เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำจากยอดเขาก็จะไหลลงมาซึมอยู่บริเวณที่ราบแห่งนี้ รัฐบาลได้สร้างเขื่อนลำพระเพลิงเพิ่ม เพื่อกั้นลำน้ำสำหรับเกษตรกรรมและป้องกันอุทกภัย แต่เมื่อพื้นที่ป่าหายไป กลายเป็นบ้านพัก รีสอร์ต ความแรงของน้ำก็เพิ่มขึ้น น้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลลงมาจากยอดเขาใหญ่ไม่มีเครื่องชะลอความแรงของน้ำ หรือที่พักน้ำ ก็ไหลเข้าท่วมบริเวณเชิงเขาทุกๆทาง ไล่ไปตั้งแต่ฝั่งทิศใต้ของเขาใหญ่ อย่างปราจีนบุรี กบินทร์บุรี ฝั่งทิศเหนืออย่างปักธง ที่ไม่เคยน้ำท่วมมานานมาก หรือแม้แต่เมืองโคราช และปากช่องก็ไม่เว้น ส่วนฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองนครนายก ต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ที่ทรงสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชนเก็บกักหรือดักน้ำจากเขาใหญ่ฝั่งนี้ไว้ ไม่อย่างนั้นเมืองนครนายก ก็คงจมบาดาลเหมือนกัน


การเข้าจับจองพื้นที่อุทยานเพื่อปลูกสร้างบ้านพัก หรือรีสอร์ตของประชาชนในวังน้ำเขียว ถ้าไปไล่เช็คดู ก็จะพบว่ามีแต่คนใหญ่คนโต ค่อนข้างมีฐานะทั้งนั้น ถึงเข้าไปทำแบบนั้นได้ ลำพังชาวบ้านจริงๆคงไม่มีเงินทุนเข้าไปสร้างแบบนั้น การที่กลุ่มคนเหล่านี้ออกมาเรียกร้องและกล่าวโทษอุทยาน จึงเป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ แม้จะต้องมีแรงงานกลุ่มหนึ่ง ที่จะต้องเปลี่ยนอาชีพ เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงจากข่าวที่ทางอุทยานประกาศฟ้องร้องและให้เพิกถอนอาคาร บ้านเรือนที่รุกล้ำที่ของอุทยาน ผมอยากเรียกร้องให้ชาวอำเภอเมืองโคราช อำเภอปักธงชัย อำเภอปากช่อง หรืออำเภออื่นๆ รอบๆเขาใหญ่ อยู่ฝ่ายเดียวกับกรมอุทยาน และช่วยกันนำป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ของเขาใหญ่กลับคืนมา เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลาน ป้องกันอุทกภัยที่จะเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกทีจากการที่ป่าไม้บนเขาใหญ่ถูกทำลาย อย่างเช่นที่น้าหมู พงษ์เทพ กระโดนชำนาญดำเนินการมาตลอดสิบกว่าปี ที่พยายามจะอนุรักษ์ป่าผืนใหญ่บนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่-ทับลาน ก็เพื่ออนาคตของเมืองที่อยู่ด้านล่าง เพื่อลูก เพื่อหลาน เพื่อสัตว์ป่าร่วมโลกที่อยู่บนเขาใหญ่มาก่อนเรา และเพื่อสืบทอดเจตนาของหัวหน้าสืบ นาคะเสถียร ที่สละชีพตัวเองให้คนไทยทั้งประเทศสำนึกและรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญของป่าไม้ไทย ที่ปัจจุบัน นับวันจำนวนจะลดลงทุกที และถึงแม้เราจะสร้างเขื่อนอีกกี่สิบแห่ง ก็ไม่มีวันป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้ เหมือนดั่งเช่นประเทศจีน เราต่างก็รู้เห็นข่าวต่างประเทศ ที่รายงานตลอดว่าช่วงฤดูฝนจีนประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก แม้เขื่อนขนาดใหญ่ก็แทบแตก และเมื่อถึงช่วงฤดูร้อนกลับเผชิญกับภาวะภัยแล้ง แม้จะมีเขื่อนเก็บน้ำเยอะเพียงไรก็ตาม หนำซ้ำ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนามเอง กลับต้องมาเดือดร้อนกับการสร้างเขื่อนของจีนด้วย ที่ทำให้น้ำโขงแห้งในฤดูร้อน และเอ่อท่วมตลิ่งในฤดูน้ำ


ไม่ใช่แค่เขาใหญ่ ที่มีบทเรียนจากการที่พื้นที่ป่าบนเขาถูกทำลาย แต่ยังมีเทือกเขาที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ก็กำลังประสบปัญหาเหล่านี้เช่นกัน เช่น เขาค้อ พื้นที่ที่รับผลกระทบโดยตรงก็คืออำเภอหล่มสัก หล่มเก่า และที่เห็นผลกระทบไกลหน่อย แต่มากกว่าที่อื่นก็คือ พื้นที่ราบกว้างใหญ่ของภาคเหนือตอนล่างหรือภาคกลางตอนบนอย่างจังหวัด สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก นครสวรรค์ หรือภาคกลางเองอย่าง สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานครเอง ที่ไกลคือพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้อยู่ใกล้เทือกเขาใหญ่ๆ แต่เพราะโดยภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม แม่น้ำที่ไหลจากเทือกเขาสูงหลายๆสาย จึงไหลมารวมกันที่ท้องทุ่งนี้ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พื้นที่เหล่านี้จึงโดนน้ำท่วมทุกปีจนแทบจะกลายเป็นทะเล (จริงๆสมัยก่อนพื้นที่แถบนี้ก็คงโดนน้ำท่วมมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว สังเกตุจากชื่อชุมชนต่างๆที่ตั้งบ้านเรือนของคนโบราณ อาทิ โพทะเล บึงนาราง บึงสามัคคี หรือบางระกำ) แม้เราจะมีเขื่อนภูมิพลกั้นลำน้ำปิง เขื่อนสิริกิติ์กั้นลำน้ำน่าน เขื่อนกิ่วลมกั้นลำน้ำวัง เหลือก็แต่แม่น้ำยม ที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น ซึ่งรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย เวลาประสบปัญหาน้ำท่วมสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลกทีไร ก็จะหยิบยกประเด็นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาตลอด แต่สิ่งที่มีค่ามากกว่าเขื่อนก็คือ ป่าสักทองผืนสุดท้ายของไทยบริเวณเหนือเขื่อน สัตว์ป่าจำนวนมากที่อาศัยอยู่เหนือเขื่อน หากสร้างเขื่อนจริง คราวนี้ใครจะเข้าไปช่วยชีวิตสัตว์เหล่านั้นเหมือนสมัยหัวหน้าสืบนั่งเรือไปช่วยชีวิตสัตว์ป่าที่ติดเกาะอยู่กลางเขื่อนเชี่ยวหลานหรือเขื่อนรัชประภาของสุราษฎร์ธานี และคำถามที่สำคัญ สร้างเขื่อนแล้วป้องกันน้ำท่วมได้จริงๆหรือ ผมว่าวันนี้เราต้องเปลี่ยนจิตสำนึกของพวกเราทุกคน เลิกตัดต้นไม้ บุกรุกพื้นที่ป่า ถ้าไม่ปลูกเพิ่มทดแทน ก็อย่าตัดทำลาย สถานที่ท่องเที่ยวตามป่าเขา คงต้องปรับเปลี่ยนจากภาพลักษณ์ทันสมัย เครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน เป็นบ้านพักแบบกลมกลืนธรรมชาติ อนุรักษ์พื้นที่ป่าทุกตารางนิ้ว และอยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด ผมว่าปัญหหาน้ำท่วม จะแก้ไขได้ในระยะยาว ได้ดีกว่าการป้องกันแบบชั่วคราวอย่างการสร้างเขื่อนมาดักน้ำจำนวนมหาศาลแน่นอน


แม้บทเรียนจากรีสอร์ตบนวังน้ำเขียว จะทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องสูญเสียผลประโยชน์ แต่ถ้าผลประโยชน์ของเขา ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียบ้าน ทรัพย์สิน หรือแม้แต่คนที่รักของคนที่อยู่ใต้น้ำ ผมว่าอย่างหลัง คงจะโหดร้าย ไม่เป็นธรรมกับคนที่อยู่ใต้เขาซะมากกว่า คนวังน้ำเขียว อาจจะบอกว่า "หยุดทำร้ายคนวังน้ำเขียว" โดยที่ไม่รู้ว่าคนวังน้ำเขียวเอง ทำร้ายคนในตัวเมืองย่าโม ปักธงชัย ปากช่อง กบินทร์บุรีไปมากแค่ไหน เป็นกำลังใจให้กรมอุทยาน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลานและทั่วประเทศทุกท่าน ช่วยกันสืบทอดเจตนาของหัวหน้าสืบ ให้สมกับค่าของชีวิตคนดีๆคนหนึ่ง ที่น่าจะยังอยู่บนโลกนี้ มากกว่านายทุนเลวๆบางคน ที่ยังคงเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและยังมีชีวิตอยู่บนโลกตราบวันนี้


"ดวงตาของเจ้าลุกโชน เสียงตะโกนของเจ้าก้องไพร บัดนี้เจ้านอนทอดกาย จากป่าไปด้วยหัวใจกังวล วาจาของเจ้าจริงจัง มีพลังเหมือนดังมีมนต์ นักสู้ของประชาชน จะมีกี่คนทำได้ดังเจ้า..."
สืบ นาคะเสถียร

ความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม